เบาหวาน ความดัน ป้องกันก่อนสาย

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) และฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)

เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ที่คนส่วนมากละเลย เพราะคิดว่าไม่เป็นอันตราย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว โรคเบาหวานสามารถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย และอาจจะไม่หายขาด รักษาแล้วก็อาจจะกลับมาเป็นได้อีก จึงต้องการการดูแลสังเกตุอาการ และการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีผู้ที่เป็นเบาหวานกว่า 4.8 ล้านคน โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึง 200 คนต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่า เบาหวานที่เกิดในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยต้นนั้น มีข้อมูลชี้ชัดว่าโรคมีความรุนแรงกว่าเบาหวานที่เกิดในวัยกลางคนและผู้สูงอายุอีกด้วย

โรคเบาหวาน คือ โรคที่เซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน โดยขบวนการนี้เกี่ยวข้องกับอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อนเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอร่างกายจะไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงทำให้เกิดการสะสมน้ำตาลอยู่ในเลือดเป็นปริมาณสูง ส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย และทำให้เป็นโรคเบาหวานในที่สุด

อินซูลิน (Insulin) เป็น ฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย สร้างและหลั่งจากเบต้าเซลล์ (Beta cells) ของตับอ่อน มีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมกระบวนการเผาผลาญน้ำตาล โดยเป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงานสำหรับกล้ามเนื้อและเซลล์ต่างๆใช้ในการดำเนินชีวิต ถ้าขาดอินซูลินหรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้นกว่าปกติ ในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดการทำลายหลอดเลือด และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้น

ลักษณะอาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน

  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น หิวน้ำมากขึ้น: โดยเฉพาะตอนกลางคืนจะกระหายน้ำมากกว่าเดิม นี่เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน เพราะร่างกายต้องการขับน้ำตาลที่มีอยู่สูงในเลือดออกมาทางปัสสาวะ
  • น้ำหนักลด: การมีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้น้ำหนักลดลงเร็วมาก ประมาณ 5-10 กิโลกรัมภายใน 2-3 เดือน
  • บาดแผลหายช้า: เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงของผู้ป่วยเบาหวานไปขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด ทำให้แผลหายช้า
  • หิวบ่อย กินจุบจิบ: ถ้าเกิดหิวบ่อย และกินจุกจิกขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเข้าสู่ภาวะการเป็นเบาหวานแล้ว
  • อ่อนเพลีย อารมณ์ไม่คงที่: อาการอ่อนเพลีย และอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานทุกคน เพราะเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลต่อการทำงานทุกระบบ รวมถึงภาวะอารมณ์ด้วย

ค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม

โดยปกติแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่านั้น ควรตรวจร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน หรือหากสุ่มเจาะน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้อดอาหาร แล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่าคนผู้นี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน

ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes)

คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ แต่สูงไม่มากพอที่จะเป็นโรคเบาหวานได้ โดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) จากสถิติพบว่า ประชากรในวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน เป็นโรคเบาหวาน และ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรค ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคแต่เนิ่นๆ และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนจากโรคได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย หรือเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย โรคไตวายเรื้อรัง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ต่ำกว่า 72 มก. ต่อ ดล.) ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนหมดสติ (มากกว่า 300-400 มก. ต่อ ดล.) ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ปัญหาที่เท้า แผลที่เท้า ภาวะแทรกซ้อนทางตามองภาพไม่ชัด หรือเบาหวานขึ้นตา (สามารถพบได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน)