
กระดูก และโรคกระดูก
กระดูก (Bone)
เป็นเนื้อเยื่อในกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย มีทั้งหมด 206 ชิ้น กระจายอยู่ทั่วร่างกายตั้งแต่ศีรษะจนถึงนิ้วเท้า มีหน้าที่สำคัญ
- ช่วยการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อของเอ็นกระดูก ของเอ็นกล้ามเนื้อ และเป็นส่วนประกอบของข้อ
- ปกป้องอวัยวะภายในต่างๆ เช่น สมอง ปอด และหัวใจ
- เป็นแหล่งเก็บสะสมเกลือแร่สำคัญ เช่น แคลเซียม และฟอสฟอรัส
- ช่วยรักษาสมดุลของเกลือแร่ และภาวะความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย
- ช่วยกำจัดสารพิษออกจากเลือด เช่น ตะกั่ว โลหะหนักต่างๆ โดยจะนำมาสะสมอยู่ในกระดูกแทน
- สร้างเม็ดเลือดต่างๆ เช่นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดผ่านไขกระดูก(Bone Marrow) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในโพรงส่วนกลางของกระดูกทุกชิ้น


โรคกระดูก (Bone Disease)
คือ ภาวะผิดปกติต่างๆที่ส่งผลให้การทำงานของกระดูกผิดปกติ ทำให้กระดูก เปราะ บาง อ่อนแอ ไม่แข็งแรง ผิดรูป หรือหักในที่สุด โรคกระดูก เป็นโรคพบได้บ่อยในทั้งหญิง และชาย พบได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยในประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก จะพบว่ามีผู้เป็นโรคกระดูก โดยเฉพาะกระดูกพรุนมากเช่นกัน โรคกระดูกจึงเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ
โรคกระดูกหลากหลายประเภท
โรคกระดูก มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย เมื่อเป็นแล้วจะนำปัญหามาสู่ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว คนรอบข้างมากมายไม่สิ้นสุด โรคกระดูกมีหลายประเภท

โรคกระดูกในวัยเด็ก เช่น
- กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก จากการอุ้มเด็กเหวี่ยงไปมา การดึง หรือยกเด็กขึ้นมาจากพื้นโดยใช้แขนหรือมือเพียงข้างเดียว
- ขาโก่ง ปกติมักจะหายได้เมื่อเด็กเริ่มยืดขาได้และหัดเดิน แต่หากยังเป็นอยู่จนอายุ 2-3 ปี อาจเป็นอาการเจ็บป่วยด้วยภาวะอื่นๆ
อาการเกี่ยวกับกระดูกในเด็กยังมีสาเหตุมาจาก ท่านั่ง W-Sitting ที่ส่งผลเสียต่อสะโพก เข่า และข้อต่อ การสะพายกระเป๋าหนักๆ ส่งผลต่อกระดูก เท้าปุก ซึ่งเป็นลักษณะของเท้าที่ผิดปกติในเด็ก กระดูกสันหลังคด ทำให้แนวสะโพกเอียง ปวดหลัง มีผลเสียต่อการหายใจและการทำงานของปอด หัวใจ
โรคกระดูกในผู้ใหญ่ เช่น
- กระดูกคอเสื่อม จากการนั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน เช่นการนั่งก้มหน้าดูจอคอมพิวเตอร์ ดูโทรศัพท์มือถือ การขับรถ ที่ต้องยื่นคอไปข้างหน้ามากๆ
- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท พบบ่อยบริเวณเอวและคอ จะมีอาการปวดร้าวไปที่แขนหรือขาตามแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
- ข้อเข่าเสื่อม มีอาการปวด บวม อักเสบที่ข้อเข่า ขณะเดิน ข้อฝืด หรือตึงข้อ ไม่สามารถขยับข้อเข่าได้ตามปกติ ท่าเดินไม่เหมือนเดิมหรืออาจเดินไม่ได้อีก หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อน คือ ข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อมได้
- กระดูกพรุน เป็นโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดอาการกระดูกหักง่ายกว่าปกติ
นอกจากนี้โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ และนิ้วล็อกก็ถือว่าเป็นโรคทางกระดูกด้วย

โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมมวลกระดูกน้อยเกินไปในขณะที่กำลังเจริญเติบโต หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว บางคนอาจตัวเตี้ยลง (มากกว่า 3 เซนติเมตร) เนื่องจากกระดูกสันหลังโปร่งบางและยุบตัวลงช้า ๆ หรือบางคนมีอาการปวดหลังจากการล้มหรือยกของหนัก ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเพียงแค่มีแรงกระแทกเบา ๆ การบิดเอี้ยวตัว อย่างทันทีทันใด หรือแม้แต่การไอ จาม หรือลื่นล้ม ก็อาจทำให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหักได้ ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา มักพบมากใน เพศหญิงมากกว่าเพศชาย โรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยหนุ่มสาวเช่นกัน ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากกว่า 1 ล้านคน
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุน
- เพศ ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ
- อายุ เมื่ออายุประมาณ 30 ปี มวลกระดูกจะหนาแน่นที่สุด หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ผู้หญิงอายุเกิน 60 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุนประมาณ 10 คน ใน 100 คน ถ้าอายุเกิน 70 ปี โอกาสจะเพิ่มเป็น 20 คน ใน 100 คน และหากอายุเกิน 80 ปี โอกาสเกิดจะมากถึง 40 คน ใน 100 คน
- กรรมพันธุ์ ลูกที่พ่อหรือแม่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก จะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย ในขณะที่คนต่างชาติผิวขาว และคนเอเชียมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง

- การรับประทานอาหารไม่ครบหมู่ จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม และโปรตีน
-
การรับยาประเภทสเตียรอยด์ ยาโรคไขข้อรูมาตอยด์ ยาโรค SLE ยาทดแทนธัยรอยด์ ยาป้องกันการชัก การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 แก้ว/วัน การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย คนที่ผอมเกินไป รวมทั้งการทานโซเดียมหรือเกลือมากเกินไป พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุ และสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน หรือทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเกิดเร็วขึ้นได้

การป้องกันโรคกระดูกพรุน
การป้องกันโรคกระดูกพรุน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำหรือควรทำเมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่ควรต้องเริ่มให้การศึกษา และดูแลเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นเด็ก เพื่อลดความเสี่ยง และโอกาสเกิดโรคนี้เมื่ออายุมากขึ้น
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ประเภทที่มีการลงน้ำหนักผ่านกระดูก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ เต้นรำ ทำให้กระดูกแข็งแรง
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่งผลเสียต่อการเสริมสร้างกระดูก รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- รับประทานโปรตีน ฟลูออไรด์ แมกนีเซียม และโปรแตสเซียม ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูก
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยม หรือเสริมแคลเซี่ยม เพิ่มให้ร่างกายอย่างเพียงพอตามแต่ละช่วงอายุ และเพศดังนี้
