ปัญหากระดูกและข้อ อย่ารอจนสาย: ข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเสื่อมเกิดจากอะไร

โรคข้อเสื่อมเกิดจากการสลายและสึกหรอของกระดูกอ่อนบริเวณข้อ ทำให้กระดูกอ่อนมีปริมาณลดลงจนเกิดการเสียดสีของกระดูกแข็ง ส่งผลให้เกิดอาการปวดบวมอักเสบและไม่สามารถใช้งานข้อได้ในที่สุด ปัจจุบันผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมีจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ซึ่งก่อให้เกิดความทรมานและส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

หลายคนอาจคิดว่า โรคข้อเสื่อมเป็นโรคของคนสูงอายุ แต่ขณะนี้ 1 ใน 3 ของคนไทยมีอาการป่วยด้วยโรคข้อ ที่สูงสุดคือเป็นข้อเข่าเสื่อม จากสถิติคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากถึง 50% แต่ล่าสุดพบว่ากว่า 10% ของคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเสื่อม

  1. คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีการใช้งานข้อต่าง ๆ มากขึ้น กระบวนการสลายกระดูกอ่อนจะเกิดมากกว่ากระบวนการสร้าง
  2. คนที่มีน้ำหนักตัวมาก โดยมีค่า BMI เกิน 25 น้ำหนักตัวมาก ทำให้ข้อต่อต่างๆ ต้องรับน้ำหนักมาก ความแข็งแรงของข้อจึงเสื่อมลงได้ง่าย
  3. คนที่มีกิจวัตรประจำวันที่ต้องเดินตลอดเวลา รวมทั้งคนที่นั่งพับเพียบ นั่งยองๆ บ่อยๆ หรือเป็นเวลานาน และคนที่มีพฤติกรรมการใส่รองเท้าส้นสูงนานหรือบ่อย
  4. เพศหญิง มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าเพศชายถึง 2-3 เท่า เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะ ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) น้อยลงหรือไม่ผลิตอีกเลย ส่งผลให้เซลล์กระดูกอ่อนที่มีตัว จับกับฮอร์โมนเพศหญิงชนิดนี้ทำงานน้อยลง ทำให้การซ่อมแซมเซลล์กระดูกอ่อนลดลงไปด้วย
  5. ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า จากการเกิดอุบัติเหตุ หรือการออกกำลังกายมากกว่าปกติ เช่น ข้อเข่าแตกหรือเอ็นข้อเข่าฉีก ซึ่งจะมีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ

อาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคข้อเสื่อม

  1. ข้อต่อหรือเข่ามีเสียงดังกร๊อบแกร๊บขณะเคลื่อนไหว
  2. ปวดเข่าเวลานอน หรือปวดขาเวลาเดิน หรือต้องเคลื่อนไหว
  3. ปวด บวม อักเสบ บริเวณข้อหรือเข่า รู้สึกปวดบริเวณข้อ โดยจะปวดบริเวณรอบๆ ข้อแบบที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้ และมักจะปวดเรื้อรัง จุดสังเกตสำคัญ อีกอย่างคืออาการปวดข้อจะมากขึ้น เมื่อมีการใช้งานหรือลงน้ำหนักบนข้อมากๆ
  4. ปวดเข่าปวดข้อจนไม่สามารถเดินได้อย่างปกติ ต้องเดินโยกตัว ปวดข้อเข่าเวลาใส่ถุงเท้า รองเท้า หรือเวลาลุกนั่ง เริ่มเดินเหินไม่ค่อยสะดวก นั่งก็ลำบาก โดยเฉพาะหากต้องอยู่ในลักษณะเดิมนาน ๆ อาการปวดอาจทวีคูณจนลุกไม่ขึ้น หรือแค่ขยับก็จะเจ็บมาก