
อายุที่เพิ่มขึ้น กับความแก่ที่มาเยือน
ความแก่ คือ กระบวนการที่เกิดจากเซลล์เริ่มโปรแกรมการขจัดตัวมันเอง โดยในวัยที่มีอายุน้อยจนถึงวัยหนุ่มสาวกระบวนการทำงานของร่างกาย จะเป็นไปในทิศทางการสร้างการเจริญเติบโตเป็นหลัก เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่การทำงานของร่างกายจะดำเนินไปในทางรักษาเซลล์ และเมื่ออายุของเซลล์มากขึ้นกระบวนการทำลายจะมากกว่ากระบวนการเสริมสร้าง เซลล์ก็จะเสื่อม และตายไปในที่สุด เมื่อเซลล์ตายมากขึ้น กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายก็จะค่อยๆเสื่อมถอยลง…แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านอายุรวัฒนะบอกว่า คนเราจะเริ่มแก่เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป
คนเรามี 2 อายุ คือ “อายุตามปฏิทิน” (Calendar Age) หรืออายุตามวัน เดือน ปีเกิด ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และ “อายุร่างกาย” (Body Age) เป็นอายุสุขภาพที่บอกได้ถึงความแก่และความเสื่อมสภาพของระบบการทำงานในร่างกาย โดยคนที่มีสุขภาพดี จะมีอายุร่างกายน้อยกว่าหรือเท่าอายุปฏิทิน แต่ถ้าหากอายุร่างกายมากกว่าอายุตามปฏิทิน แสดงว่าร่างกายเกิดความเสื่อมสภาพก่อนวัยจริง อาจเป็นผลมาจากองค์ประกอบของร่างกาย และพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสม จนนำไปสู่ความชรากว่า อายุจริง รวมทั้งมีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เข้ามารุมเร้าด้วย
อาการบ่งชี้ความชรา และผลที่ตามมา
- นอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิทเหมือนเดิม
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มีการเสื่อมของกระดูกและข้อ ข้อติด และปวด อักเสบ
- ระบบประสาทในการรับรู้ เรียนรู้ และการเคลื่อนไหว เสื่อมลง
- เบื่ออาหาร การทำงานของปอด หัวใจ ตับ ไต เสื่อมลง
- มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด การทำงานของอินซูลินลดลง เป็นเบาหวาน
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
- ผิวหนังแห้ง มีริ้วรอย เหี่ยวย่น หย่อนยาน หย่อนคล้อย
- ผมร่วงและหงอกมากขึ้น


สาเหตุของความแก่
- ใช้มาก-เสื่อมมาก (Wear & Tear) เป็นความชราอันเกิดจากการใช้ร่างกาย อย่างหนัก (overuse) หรือใช้ผิดวิธี (abuse) ถูกทำร้ายจากสารพิษในอาหารและสิ่งแวดล้อม ถูกทำร้ายจากรังสี UV ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- ฮอร์โมนเสื่อมถอย (Neuroendocrine) เมื่ออายุมากขึ้นปริมาณฮอร์โมนในร่างกายจะเริ่มลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการซ่อมแซม และการควบคุมระบบในร่างกายเสื่อมถอยลงตามไปด้วย
- พันธุกรรมบังคับ (Genetic Control) มนุษย์ ทุกคนเกิดมาพร้อมพันธุกรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
- อนุมูลอิสระ (Free Radical) เป็นตัวการสำคัญที่จะไปเร่งกระบวนการแก่ที่ไม่มีใครต้องการ โดยมันจะไปทำลายโครงสร้างของเซลล์ และทำให้เกิดการสะสมของของเสียจากเซลล์ นอกจากนี้อนุมูลอิสระยังก่อให้เกิดการทำลายสารพันธุกรรม และเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงต่างๆ เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) เบาหวาน (Diabetes mellitus) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) พาร์กินสัน (Parkinson) มะเร็ง (Cancer) หลอดเลือดเสื่อม (Atherosclerosis) ต้อกระจก (Cataract) เป็นต้น
ต้านอนุมูลอิสระคือ…ต้านความแก่
“อนุมูลอิสระ” เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากกระบวนเมทาบอลิซึ่ม (Metabolism) หรือการเผาผลาญอาหารในร่างกาย โดยอาศัยออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปเป็นตัวช่วยให้ได้พลังงานออกมา แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะได้อนุมูลอิสระออกมาด้วย อนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนไม่ครบคู่ จึงต้องออกไปแย่งอิเล็กตรอนจากโมเลกุลอื่นๆ เช่นจากเยื่อหุ้มเซลล์และสารพันธุกรรมของเซลล์หรือ “ดีเอ็นเอ (DNA)” จึงจะทำให้เซลล์ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสื่อมถอย ทำงานไม่ปกติ และคนเราแก่ลงทั้งภายนอก และภายใน

ร่างกายของคนเรามีกระบวนการป้องกันหรือยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ โดยนำ สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่ได้จากอาหาร และจากเอนไซม์ที่เซลล์ในร่างกายผลิตขึ้น มาชะลอความแก่ และความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ นักวิจัยเชื่อว่าถ้ามีสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายมากก็จะมีผลดีในการชะลอวัย ชะลอความแก่ และช่วยให้อวัยวะต่างๆของร่างกาย ยังคงทำงานได้เป็นปกติ ช่วยลดการเกิดเซลล์มะเร็ง และความเสื่อมในร่างกายได้ วิธีการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพแบบหนึ่ง คือการรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระให้พอเพียง